วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

อาหารกับโรคเก๊าต์ 1/2

สวัสดีค่ะ ^/\^ เมื่อหมดหน้าฝนก็เป็นหน้าหนาว ซี่งผู้ที่เป็นโรคเกาต์จะไม่ชอบเพราะอาการปวดตามข้อจะกำเริบได้ จึงเป็นที่มาของโพสต์นี้ค่ะ

     คุณรู้ไหมว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการกินของเรา เพราะว่าถ้ากินไม่ดีก็เกิดโรคต่างๆได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ารู้จักเลือกกินให้เหมาะสมจะทำให้คุณสามารถห่างไกลโรคได้ ซึ่งโรคเกาต์ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่เกิดจากปัญหาในเรื่องอาหารการกิน วิธีการป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากโรคเกาต์ที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง เพราะว่าจะทำให้เกิดการอักเสบของข้อขึ้นอีก

     โรคเกาต์ เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดตามข้อชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกัน ของกรดยูริกภายในข้อและประกอบกับการที่มีปริมาณกรดยูริกสูงด้วย คนแต่ละวัยก็มีระดับกรดยูริกในเลือดที่แตกต่างกันได้ เช่น ผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนจะมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าคนในวัยอื่นๆ และนอกจากนี้ยังพบว่าผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคเกาต์มากกว่าผู้หญิงอีกด้วย

     โดยปกติแล้ว ร่างกายจะได้กรดยูริกมาจาก 2 แหล่ง คือ

     1. ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง โดยการสลายตัวของเซลล์ตามอวัยวะต่างๆ แต่ในบางคนที่ป่วยเป็นโรค เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว ธาลัสซีเมีย จะทำให้มีการสลายตัวของเซลล์ ในร่างกายที่มาผิดปกติ

     2. จากการกินอาหารบางชนิดที่สารพิวรีนสูง ซึ่งสารชนิดนี้เมื่อกินเข้าไปแล้ว จะย่อยสลายกลายเป็นกรดยูริก ซึ่งสารพิวรีนนี้พบมากใน เนื้อสัตว์ปีก เช่น เนื้อไก่ เครื่องในสัตว์ ถั่วต่างๆ

     คนที่เป็นโรคเกาต์ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาการจะค่อยๆกำเริบ โดยเจ็บปวดที่ข้อเดิมก่อน แล้วจะเป็นที่ข้ออื่นๆตามมา จนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อทั่วร่างกาย อาการปวดจะถี่ขึ้นและนานขึ้น จนเกิดอาการปวดตลอดเวลา ถ้าควบคุมไม่ได้จะพบว่าข้อที่เคยอักเสบบ่อยๆกลายเป็นปุ่มก้อนขึ้นมา เนื่องจากการสะสมของกรดยูริกภายในข้อจำนวนมาก จนบางครั้งข้อที่ปวดนั้นเกิดการแตกออกและมีสารขาวๆคล้ายชอล์กหรือยาสีฟันไหลออกมากลายเป็นแผลเรื้อรัง และในที่สุดข้อต่างๆจะค่อยๆพิการ และใช้งานไม่ได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดนิ่วในไตตามมาได้อีกด้วย
  • อาหารที่มีพิวรีนน้อย ได้แก่ ธัญพืชต่างๆ ไข่ นม และผลิตภัณฑ์จากนม ผัก และผลไม้เกือบทุกชนิด (0-50 มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 กรัม)
  • อาหารที่มีพิวรีนปานกลาง ได้แก่ ข้าวโอ๊ต เนื้อหมู เนื้อวัว ปลากะพงแดง ปลาหมึก ปู ถั่วลิสง ถั่วลันเตา หน่อไม้ ใบขี้เหล็ก สะตอ ผักโขม (50-100 มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 กรัม)
  • อาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ปลาดุก ปลาซาร์ดีน ปลาไส้ตัน กุ้ง ไข่ปลา น้ำต้มกระดูก น้ำสกัดเนื้อ ซุปก้อน กะปิ ชะอม กระถิน สะเดา เห็ด (150 มิลลิกรัมขึ้นไปต่ออาหาร 100 กรัม)
โปรดติดตาม "วิธีป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากโรคเกาต์" ในโพสต์ถัดไป หรืออ่านที่เว็บไซต์ สวัสดีค่ะ ^/\^

ขอขอบคุณ
  • www.ku.ac.th/e-magazine – นิตยสารเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 74 สิงหาคม 2549
  • xtend-life.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น