วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เบาหวาน ทำให้ไตวาย

สวัสดีค่ะ ^/\^ โพสต์นี้มีบอกเล่าเรื่องสุขภาพกัน ซึ่งเกี่ยวกับ "เบาหวาน" ซื่อหวานๆ เบาหวิวๆ แต่ใครได้รู้จักแล้วจะไม่ขอเป็นเด็ดขาด เพราะต้องรักษาประคับประคองกันไปเรื่อยๆ ค่ะ

     เบาหวาน เป็นภาวะผิดปกติของร่างกายในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติและมีน้ำตาลรั่วออกมาในปัสสาวะ
     เบาหวานทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนกับอวัยวะต่างๆ ได้มากมาย เช่น หัวใจ ตา ระบบประสาท ไต เป็นต้น
     โรคแทรกซ้อนของเบาหวานที่เกิดกับไตและทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ระบบประสาทกระเพาะปัสสาวะเสื่อม (Neurogenic bladder) ทำให้มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือมีอาการปัสสาวะไม่ออกก็ได้ และภาวะไตวายระยะเริ่มต้น รวมทั้งไตวายในที่สุด

เป็นเบาหวานนานเท่าไร จึงจะมีไตวาย
     จากการศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยหลังจากเป็นเบาหวานมาประ มาณ 10 ปี จะพบอาการแทรกซ้อนทางไต คือ เริ่มมีไตเสื่อมได้ประมาณ 30-35% (ในบางรายจะเกิดก่อน 10 ปี และบางรายเกิดหลัง 10 ปี) หลังจากเริ่มมีภาวะไตวายในระยะเริ่มต้น พบว่าอีกประมาณ 4-7 ปี จะกลายเป็นไตวายในระยะสุดท้าย ถ้าไม่ได้รับการดูแลและรักษาอย่างเหมาะสม

จะทราบได้อย่างไรว่ามีโรคแทรกซ้อนทางไตแล้ว
     เนื่องจากในระยะแรก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติอะไร ดังนั้นจะทราบได้จากการตรวจปัสสาวะซึ่งจะพบว่าเริ่มมีไข่ขาวออกมาในปัสสาวะมากกว่าปกติเล็กน้อย (Microalbuminuria) และจะมีไข่ขาวออกมาในปัสสาวะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความรุนแรงของภาวะไตวาย แต่ถ้าเป็นระยะหลังที่มีไตวายมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการบวมโดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและหลังเท้า มีไข่ขาวในปัสสาวะมากและมีค่าของเสียในเลือดสูง ระวังไม่ควรรอให้ถึงระยะนี้ เพราะไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้ป่วยจะเกิดไตวาย ระยะสุดท้ายในอีกไม่กี่ปี

ระดับน้ำตาลในเลือดมีผลต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนหรือไม่
     ระดับน้ำตาลในเลือดมีผลต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ยิ่งน้ำตาลในเลือดสูงมากยิ่งมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากและเกิดเร็วขึ้น

ความผิดปกติอื่นจะช่วยส่งเสริมภาวะแทรกซ้อนทางไตหรือไม่ 
     ความดันโลหิตสูงและภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้เกิดโรคแทรกซ้อนทางไตในผู้ป่วยเบาหวานให้เกิดอาการเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น
     ในปัจจุบัน เบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะไตวายระยะสุดท้าย ดังนั้นการควบคุมอาหาร การดูแลรักษาและการตรวจเช็คอวัยวะต่างๆ รวมทั้งไตจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นวิธีป้องกันหรือช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยให้น้อยที่สุดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

ถ้าเป็นแล้วจะรักษาได้หรือไม่
     ถ้าเป็นในระยะแรกที่มีไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะเพียงเล็กน้อยสามารถรักษาได้ แต่ถ้าเป็นระยะหลังที่มีไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะมากหรือมีไตวายแล้วไม่สามารถรักษาได้ ทำได้เพียงช่วยรักษาให้เกิดภาวะไตวายระยะสุดท้ายให้ช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ดูแลรักษาสุขภาพของท่านให้ห่างไกลจากโรคภัยเป็นลาภอันประเสริฐจริงๆ สวัสดีค่ะ ^/\^

ขอขอบคุณ
  • ที่มาข้อมูลจากเว็ปไซต์ www.bangkokhealth.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น