วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การบริจาคอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่าย VS การอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาแพทย์

สวัสดีคะ ^/\^ โพสต์ครั้งที่แล้วได้กล่าวถึงการบริจาคดวงตาไปแล้ว โพสต์นี้จะกล่าวอีก 2 การบริจาคที่ถือว่าเป็นการทำทานบารมีขั้นสูงสุดจนวินาทีสุดท้าย นั่นคือการบริจาคอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายและการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาแพทย์

โดยโพสต์ครั้งนี้ขอนำการบริจาคอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายและการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาแพทย์มาเปรียบว่าให้เห็นความแตกต่างของการบริจาคทั้งสองอย่างกัน

การบริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่าย
การอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาแพทย์
1. นำอวัยวะบางส่วน เช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต ฯลฯ ไปเปลี่ยนให้กับผู้ป่วยที่อวัยวะนั้นๆ เสื่อมสภาพเพื่อให้มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น 1. อุทิศร่างกายเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ศึกษาส่วนต่างๆ ของอวัยวะในร่างกายมนุษย์
2. ต้องเสียชีวิตจากสมองตายเท่านั้น 2. เสียชีวิตจากสาเหตุธรรมชาติ มีอวัยวะครบถ้วน ยกเว้นผู้บริจาคดวงตา
3. หลังจากผ่าตัดนำอวัยวะออกซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง แพทย์ตะตกแต่งร่างกายให้คงเดิมและมอบให้ญาตินำกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาได้ 3. หลังจากเสียชีวิตแล้วต้องแจ้งให้ไปรับร่างกายภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากการศึกษาซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ปี จะมีพิธีบำเพ็ญกุศลอาจารย์ใหญ่ให้
4. รับแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะจากผู้มีจิตกุศลทั่วประเทศ 4. มีขอบเขตการรับอุทิศร่างกายจำกัด เช่น รับเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (รายละเอียดขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน)
5. แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เหล่ากาชาดจังหวัดทุกแห่ง ร.พ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น ร.พ.ชลบุรี ร.พ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และหน่วยเคลื่อนที่ต่างๆ 5. ติดต่อได้ที่คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่ง

จากข้างต้นพอจะเห็นความแตกต่างกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็สามารถแสดงความจำนงบริจาคได้ทั้งอวัยวะและร่างกาย แต่เมื่อเสียชีวิตจะบริจาคอะไรได้ขึ้นอยู่กับสาเหตุการเสียชีวิต เพราะผู้ที่สามารถบริจาคอวัยวะได้ต้องเสียชีวิตด้วยภาวะสมองตายเท่านั้น เช่น เส้นเลือดในสมองแตก เนื้องอกในสมอง ส่วนผู้ที่บริจาคร่างกายเสียชีวิตด้วยภาวะปกติ เช่น ชราภาพ ฯลฯ 

การบริจาคทั้งสองกรณีถือว่าเป็นการทำทานที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้คนได้มากมายไม่สูญเปล่า หากท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ของสภากาชาดไทยหรือเส้นทางลิงค์ด้านล่าง ขออนุโมทนาบุญคะ ^/\^

ขอขอบคุณ

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การบริจาคดวงตา (Cornea)

สวัสดีคะ ^/\^ หลังจากที่คิดมาหลายตลบว่าไหนๆ ก็โพสต์เกี่ยวกับการบริจาคโลหิต พลาสม่า และสเต็มเซลล์ยังมีการบริจาคอีก 3 อย่างก็จะครบตามที่สภากาชาดไทยรับบริจาค นั่นคือการบริจาคอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่าย การอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาแพทย์ และการบริจาคดวงตา ซึ่งทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นการทำทานบารมีขั้นสูงสุดจนวินาทีสุดท้ายกันเลยทีเดียว

ขอแจ้งแก่ท่านผู้มีจิตกุศลได้ทราบก่อนว่า “การบริจาคดวงตา” เป็นการยื่นเจตจำนงต่างหากจากการบริจาคอวัยวะ (หัวใจ ปอด ตับ ไต) เรามาดูรายละเอียดกันเลยคะ

ประเทศไทยมีคนตาบอดหรือมืดมัวอยู่เป็นจำนวนมากที่มีสาเหตุจากโรคกระจกตาหรือตาดำ ซึ่งศัพท์ทางแพทย์เรียกว่า Cornea อาจจะรักษาให้หายหรือทุเลาได้โดยวิธีการผ่าตัดที่เรียกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาหรือ Corneal Transplantaiton (Keratoplasty)

ส่วนตาขาวนำไปใช้ประโยชน์ในการผ่าตัดรักษาและแก้ไขความผิดปกติและโรคของตาได้หลายชนิด เช่น ผ่าตัดแก้ไขหนังตาตก ใช้หุ้มลูกแก้วที่ใช้ใส่แทนตาปลอมกรณีแพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดควักตาของผู้ป่วยออก การผ่าตัดแก้ไขหนังตาม้วนเข้า ผ่าตัดแก้ไขจอประสาทตาลอก แก้ไขส่วนตาขาวของผู้ป่วยที่บางมาก เป็นต้น

ในสมัยก่อนไทยเราได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์ดวงตาสากล (International Eye Bank) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา และจักษุแพทย์ในประเทศไทยก็พยายามช่วยตัวเองโดยการแสวงหาดวงตาจากศพไม่มีญาติที่ถึงแก่กรรมในโรงพยาบาล ด้วยทั้ง 2 ประการนี้นานๆ ถึงจะได้ดวงตาสักครั้งซึ่งไม่เพียงพอกับผู้ป่วยที่รออยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของ “ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย” และวันที่ 17 สิงหาคม 2512 ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยได้รับดวงตาจากผู้บริจาคที่ถึงแก่กรรมเป็นคู่แรกนำมาผ่าตัดให้ผู้ป่วยสำเร็จ 2 ราย ซึ่งต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานคำขวัญเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนให้แสดงความจำนงอุทิศดวงตา ความว่า

"ดวงตาเราคู่นี้แสนมีค่า เกินกว่าจะทิ้งไปให้สูญเปล่า 
เราไม่อยู่เราไม่ใช้นัยน์ตาเรา ให้คนเขาเก็บไว้ใช้เราได้บุญ"

เงื่อนไขในการรับบริจาคดวงตาก็ไม่ซับซ้อนเพียงท่านสามารถมองเห็นได้ ไม่ว่าจะสายตาสั้น ยาว เอียง ตาเหล่ เคยเป็นต้อ หรือมีโรคประจำตัวอย่างความดัน เบาหวานก็สามารถแสดงความจำนงบริจาคดวงตาได้ เพราะการแสดงความจำนงไว้ว่าจะบริจาคดวงตาในวาระสุดท้ายให้กับศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย โดยจะนำมาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ขึ้นอยู่ตอนเสียชีวิตว่าทางผู้อุทิศดวงตามีโรคใดบ้างที่ทำให้ติดเชื้อไปกับผู้ป่วยกระจกตาพิการที่เราจะใช้ประโยชน์การเปลี่ยนให้ ถ้าทางศูนย์ดวงตาตรวจดูร่างกายของผู้อุทิศดวงตาแล้วว่าไม่มีโรคที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่เราจะเปลี่ยนกระจกตาได้ ทางศูนย์ฯก็จะไปจัดเก็บดวงตาของผู้อุทิศดวงตาตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค

ท่านสามารถติดต่อแสดงความจำนงบริจาคดวงตาได้ 3 ช่องทาง
1. ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย (คลิกเพิ่มเติม)
2. บริจาคออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย http://www.eyebankthai.com ซึ่งศูนย์ดวงตาจะจัดส่งบัตรผู้บริจาคดวงตาให้ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้
3. เครือข่ายศูนย์ดวงตา (คลิกเพิ่มเติม)

ท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมคลิกลิงค์ได้เลยคะ ขออนุโมทนาบุญคะ ^/\^

ขอขอบคุณ