ถ้าหากเราต้องเผชิญหน้ากับคนที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย อารมณ์แปรปรวนใส่เรา เราคงรับมือหรือ ทำตัวไม่ถูก เดี๋ยวก็คึกคักสดใสร่าเริง เดี๋ยวก็เศร้าเก็บตัว เรียกว่าตามอารมณ์ไม่ถูกเลยทีเดียว
อาการอย่างนี้อย่ามองข้าม เพราะบางทีอาจจะเป็นโรคไบโพลาร์ก็ได้ หากไม่ได้รับการรักษาหรือบำบัดจะทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและครอบครัว รวมถึงคนรอบข้างได้เช่นกัน
เมื่อพูดถึง
"อารมณ์แปรปรวน" เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับคนใกล้ตัว รวมถึงสมาชิกในบ้าน เพราะเป็นอารมณ์ 2 ขั้ว มีทั้งขึ้นและลง จนบางครั้งเดาใจไม่ถูกว่าช่วงไหนดีหรือช่วงไหนร้าย ยิ่งสมัยนี้แล้วหลายๆ ครอบครัวต้องพบเจอกับภาวะกดดันรอบด้าน อาจนำไปสู่โรคทางอารมณ์ที่รุนแรงได้ง่าย
‘โรคไบโพลาร์’ ที่ว่านี้ ทางการแพทย์ถือว่าเป็น
โรคทางจิตเวชที่ส่งผลให้อารมณ์ขึ้นลงผิดปรกติ คือสุขมากเกินไปจนเข้าข่ายคึกคักและทุกข์มากเกินไปจนเข้าข่ายซึมเศร้า ซึ่งไม่ได้หมายถึงอารมณ์โกรธ เสียใจ แต่หมายถึงการแสดงออก สีหน้าพฤติกรรมที่เกิดจากมุมมองต่อตนเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อม และมุมมองต่ออนาคต
ด้านลักษณะการแปรปรวนของอารมณ์นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ขั้ว ได้แก่
"ขั้วสุข" ส่วนใหญ่จะมีอาการครื้นเครง ก้าวร้าว เห็นคนอื่นแล้วไม่ถูกใจไปหมด ตัวเองถูกอยู่คนเดียว พูดมาก นั่งไม่นิ่ง มีพลังทางเพศสูง ความมั่นใจตัวเองสูง ความคิดบรรเจิด ตัดสินใจเร็ว ทำให้การยับยั้งชั่งใจไม่ค่อยดี ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะมีความคิดเยอะมาก บางคนถึงขนาดกู้หนี้ยืมสิน ไม่มีสมาธิ เนื่องจากความคิดวิ่งเร็วมาก อาจเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่งอย่างฉับพลัน
ส่วน
"ขั้วทุกข์" นั้นจะมีลักษณะซึมเศร้า หดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่ายกับชีวิต เฉยชา หงุดหงิด กังวล กินข้าวมื้อนี้ก็จะกังวลไปถึงมื้อหน้า นอนไม่หลับ ไม่ค่อยเจริญอาหาร ไม่มีแรง รู้สึกไม่สบายต่างๆ นานา หรือชอบคิดว่าตัวเองเป็นโรคนั้นโรคนี้ รวมทั้งรู้สึกผิดกับตัวเองอยู่เสมอ
คนที่เป็นไบโพลาร์บางคนอาจจะบอกว่า ความคิดมันวนเวียน ได้ยินเสียงข้างๆ หูเรื่อยๆ สมมุติเอาสตางค์แม่ไปตอนเด็ก 50 บาท ก็จะรู้สึกผิดมาก รู้สึกว่าจะต้องชดใช้กรรมตัวนี้ หนักๆ เข้าอาจเกิดความรู้สึกอยากตาย คนกลุ่มนี้จะไม่มีสมาธิ สมองไม่ทำงาน หลายคนเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังซึมเศร้า แต่มาหาหมอเพราะว่าทำงานไม่ได้ ไม่มีสมาธิ แล้วก็เฉื่อยชา เปรียบเหมือนไฟตก แบตเตอรี่ไม่มี ไฟก็จะอ่อนลง หรี่ลงเรื่อยๆ
ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเป็นไบโพลาร์ มีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อหลัก คือ 1. มีญาติพี่น้องที่ป่วยหรือเคยเป็นโรคไบโพลาร์ 2. คนที่มีความเครียดสูง 3. คนที่ติดยาหรือมีการใช้สารเสพติด และ 4. บุคคลที่เกิดวิกฤตขึ้นในชีวิต นอกจากนั้นยังเป็นโรคที่ถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ด้วย เช่น หากมีลูกฝาแฝด ถ้าพ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาวะนี้ ลูกมีโอกาสเป็น 10% หากแฝดไข่ใบเดียว คนหนึ่งเป็น อีกคนมีโอกาสเป็นได้ถึง 90% แต่ถ้าแฝดไข่ 2 ใบ คนหนึ่งเป็น อีกคนมีโอกาสเป็นถึง 10-25% นอกจากนี้ยีนยังเป็นตัวสร้างรหัสที่ควบคุมปฏิกิริยาการตอบสนอง เพราะฉะนั้นคนที่มียีนผิดปกติจะทำให้มีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้าได้เร็วขึ้น
สำหรับการดำเนินของโรคนั้น จะมีลักษณะอารมณ์ขึ้นลงกลับไปกลับมา บางคนมีขึ้นอย่างเดียวแล้วก็ลงมาปรกติแล้วก็ขึ้นใหม่ บางคนโชคร้ายหน่อย คือมีทั้ง 2 อย่างเลย โดยระยะเวลาที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมนั้น บางคนโชคดีอาจจะถึง 5 ปี 10 ปี ขณะที่บางคนเพียง 1-2 อาทิตย์ หรือไม่ถึงหนึ่งเดือนก็กลับมาเป็นอีก พูดง่ายๆ ว่าเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หรือ เศร้าซึมลึก คึกหลุดโลกนั่นเอง
ใครที่มีอาการดังกล่าวหรือคนรอบข้าง คนใกล้ตัว เข้าข่ายลักษณะที่ว่านี้ ควรไปพบจิตแพทย์ เมื่อได้รับการรักษาหรือปรับระดับสารเคมีบางอย่างด้วยยาแล้ว ควรให้ความเคร่งครัดเรื่องการใช้ยาทุกชนิด รวมถึงอาหารเสริม และหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ที่เข้าข่ายของโรค นอกจากนั้นการรับประทานยารักษาโรคอื่นๆ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะยาบางตัวอาจมีผลต่อระดับสารเคมีในสมองได้ หากใครมีความเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว หรือเริ่มมีอาการแล้ว สามารถรับมือกับไบโพลาร์ได้ดังนี้
1. ศึกษาหาความรู้อยู่ตลอด เวลา และสร้างเป้าหมายในชีวิต
2. รับกำลังใจจากคนใกล้ชิด และใช้เวลาทำกิจกรรมนันทนาการอยู่บ่อยๆ
3. เน้นการฝึกผ่อนคลาย ลดความเครียด เพราะเป็นวิธีที่ทำให้จัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น โดยหลักการจะคล้ายกับการนั่งสมาธิ แต่ไม่ได้เน้นว่าต้องนั่งสมาธิ เพราะสมาธิเราเน้นความสงบ แต่ฝึกผ่อนคลาย จะเน้นเรื่องสบายเนื้อสบายตัว เพราะเวลามีภาวะตึงเครียดร่างกายจะ ตอบสนองไปที่กล้ามเนื้อ ทำให้มีการเกร็งตัว การฝึกผ่อนคลายจะทำให้ลดอาการนั้นลงไปได้
4. ควรฝึกในเรื่องความอดทน ยับยั้งชั่งใจ เพราะหากเกิดอาการคึกคะนองจะสามารถ ควบคุมไม่ให้ทำสิ่งที่รุนแรงได้
นอกจากนั้นยังมีวิธีการรักษาด้วยการบำบัด เช่น จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กลุ่มบำบัด และครอบครัวบำบัด โดยแพทย์จะให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยว่าถ้าหากมีวินัยในการรักษา และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปรกติ แต่ในบางท่านที่มีอาการหนักก็อาจต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นพิเศษ
"โรคไบโพลาร์ ทางการแพทย์ถือว่า เป็นโรคทางจิตเวช ที่ส่งผลให้อารมณ์ขึ้นลงผิดปกติ คือสุขมากเกินไปจนเข้าข่ายคึกคัก ทุกข์เกินไปจนเข้าข่ายซึมเศร้า ซึ่งไม่ได้หมายถึงอารมณ์โกรธ เสียใจ แต่หมายถึงการแสดงออก"
ขอขอบคุณ:
- หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข โดย นพ.โกวิทย์ นพพร