การสูญเสียการได้ยินในผู้ใหญ่อาจมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมาจากโรคประจำตัว อย่างเช่น เบาหวาน ความดันโลหิต ไขมันสูง โรคหัวใจ ตลอดถึงผลข้างเคียงของยาบางชนิดก็ได้ หรือคนทั่วไปที่มีอาการที่ว่าแถมอยู่ๆก็หูอื้อ หูตึง เวียนหัวบ้านหมุนเป็นนานเกินกว่า 3 วัน หรือเสียการได้ยินแบบเฉียบพลันให้รีบมาพบแพทย์ด่วนเพื่อรับการตรวจและรักษา เพราะต้นเหตุที่พบอาจมาจากน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือหินปูนในหูหลุดซึ่งรักษาให้หายได้
“ทุกวันนี้ เราใช้ชีวิตท่ามกลางมลภาวะทางเสียงที่ดังเกินกว่าหูของเราควรได้รับ หรือเกินกว่า 70 เดซิเบล อีกทั้งคนรุ่นใหม่เสพติดเทคโนโลยีทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ดูหนัง ฟังเพลง ร้องคาราโอเกะ ดูคอนเสิร์ต รวมถึงนิยมออกกำลังกายด้วยกีฬาประเภทที่ผาดโผนโจนทะยาน ห้อยหัวตีลังกา ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดปัญหาเรื่องการได้ยิน” พญ.สุจิตรา ประสานสุข ผู้อำนวยการศูนย์การได้ยิน การพูด และการทรงตัว เสียงในหู โรงพยาบาลกรุงเทพ และประธานองค์กรเพื่อการได้ยินนานาชาติ กล่าว
การใช้หูฟังกับเครื่องเล่นที่ถนอมการได้ยินนั้นคุณหมอแนะนำว่า ให้ฟังในสถานที่เงียบแล้วเปิดระดับความดังไม่เกิน 50% ของเครื่องเล่นและไม่ควรฟังต่อเนื่องนานกว่าครั้งละ 1 ชั่วโมง รวมถึงหลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่มีเสียงดังต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะอนาคตจะทำให้การได้ยินของหูมีประสิทธิภาพที่ลดลง จากระดับเสียงต่ำๆเบาๆก็ได้ยินกลายเป็นต้องดังมากขึ้นเรื่อยๆ
การออกกำลังกายก็มีผลทำให้หูมีปัญหาได้เช่นกันจึงควรเลือกชนิดที่ไม่ผาดโผนมากนัก เพราะมีประวัติคนไข้ที่ออกกำลังกายด้วยท่าทางที่ผาดโผน ห้อยหัวตีลังกา ส่งผลต่ออาการน้ำในหูไม่เท่ากันหรือหินปูนในหูเคลื่อนที่ได้ รวมถึงหากมีน้ำเข้าหูแล้วรู้สึกหูอื้อไม่หายก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หรือคนที่แก้วหูทะลุ เคยผ่าตัดทำให้เกิดช่องว่างในหูถ้าน้ำหรือเชื้อโรคเข้าไปได้ก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อและพัฒนาเป็นโรคหูน้ำหนวก และมีปัญหาทางการได้ยินทั้งสิ้น
นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว พันธุกรรมและความประมาทของมารดาก็มีส่วนทำให้เกิดความพิการทางการได้ยินในบุตรได้เช่นกัน อุบัติการณ์ปัจจุบันจะมีทารกแรกเกิด 3 ใน 1,000 คนที่พิการทางการได้ยินหรือหูตึงมาแต่กำเนิด ด้วยสาเหตุมาจากพ่อแม่และผลจากโรคของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด จึงไม่ควรชะล่าใจที่จะตรวจคัดกรองการได้ยินไม่ว่าจะทารกหรือผู้ใหญ่ เพื่อการวางแผนรักษาหรือฟื้นฟูได้ทันการณ์
ปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดใช้เวลาประมาณ 5 นาที และหากว่าไม่ผ่านซึ่งสงสัยว่าหูหนวกหรือหูตึงจะนัดตรวจยืนยันภายในเวลา 6 เดือนแรก เพื่อให้การรักษาและฟื้นฟูบำบัดโดยใช้เครื่องช่วยการได้ยิน รวมทั้งการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมและสอนพูดได้ทันเวลา ไม่ให้อาการหูตึงหูหนวกเป็นเหตุให้ไม่สามารถพูดได้หรือเป็นใบ้ในที่สุด
ยิ่งตรวจพบความผิดปกติล่าช้าการฟื้นฟูจะเป็นไปได้ยาก เพราะพัฒนาการทางสมองส่วนการได้ยินจะสูญเสียไปภายใน 2 ขวบ ดังนั้นการฟื้นฟูอาการหูตึงในเด็กแรกเกิดควรทำตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ขวบ เนื่องจากจะสามารถเสริมทักษะต่างๆได้ง่าย แต่ถ้าหากอายุเกิน 3 ขวบ การฟื้นฟูจะยากหรืออาจไม่เกิดผลเพราะสมองที่พัฒนาการพูดหยุดชะงัก
อย่างไรก็ตามหากเด็กไม่ได้ผ่านการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่แรกเกิด ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการเริ่มต้นได้ อาทิ เด็กไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงหรือพูดด้วยไม่หัน ไม่รับรู้ ตรวจวินิจฉัยตลอดจนการไม่เลียนเสียงพ่อแม่ ออกเสียงไม่ชัดเจน
ส่วนการให้การรักษาฟื้นฟูจะเป็นไปตามช่วงอายุที่พบ แต่แพทย์จะให้ความรู้ในการเลือกเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน ส่วนการใช้การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมทำได้ในบางคนเท่านั้น
เพื่อการได้ยินของคุณลดระดับเสียงและพฤติกรรมเสี่ยง โพสต์ต่อไปเป็นเรื่องใดโปรดติดตามคะ สวัสดีคะ ^/\^
ขอขอบคุณ
๐ กานต์ดา บุญเถื่อน. (2556, 20 ตุลาคม). กายใจ Experience: อย่ามองข้าม ‘สุขภาพหู’. กายใจ กรุงเทพธุรกิจ, หน้า 8